วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อ่าวคุ้งกระเบน

     อ่าวคุ้งกระเบน นั้นเป็นหาดต่อเนื่องกับหาดแหลมเสด็จครับ ซึ่งมีหาดทรายที่ขาวสะอาดตาและ บรรยากาศร่มรื่นมาก พื้นที่ภายในอ่าวมีลักษณะเป็นชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารและที่เพาะพันธุ์ของบรรดาสัตว์น้ำเล็กๆ มีทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา
ที่ อ่าวคุ้งกระเบน
นั้นยังเป็นที่ตั้งของ ศูนย์การศึกษาการพัฒนา อ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีหน้าที่ศึกษาในการค้นคว้าและวิจัย เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ในชายฝั่งจังหวัดจันทบุรีครับ โดยโครงการหนึ่งที่ศูนย์ทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนที่มีความสนใจเข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ ทำให้เกิดความเข้าใจระบบนิเวศในป่าชายเลน และยังรู้จักใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ คือ
สะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนที่ อ่าวคุ้งกระเบน
ตั้งอยู่ที่ตรงข้ามศูนย์ศึกษาการพัฒนา อ่าวคุ้งกระเบน  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 
      ในอดีตนั้นอ่าวแห่งนี้อุดมสมบูรณ์อย่างมากด้วยหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ ที่หลบภัย วางไข่ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิดครับ รวมทั้ง พะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหารครับ  พะยูนในภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “หมูดุด” หรือ “ดุด” ครับ บางคนเรียกว่า “วัวทะเล” เพราะการกินอาหารคล้ายวัวเล็มหญ้า มียังเล่าเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เมื่อปลาพะยูนติดอวนที่ดักไว้ในบริเวณแนวหญ้าทะเล มันส่งเสียงร้อง ก็จะมีคนแล่นเรือออกไปที่ลงอวน แล้วจะพยายามกดหัวพะยูนให้สำลักน้ำ ทำให้มันเหนื่อยจากนั้นใช้เชือกมัดตัวพะยูน ลากเข้าฝั่ง ผูกไว้กับเสา คอยดูไม่ให้พะยูนตายจนกว่าจะมีคนมารับซื้อ แต่ปัจจุบันนั้น อ่าวคุ้งกระเบน ไม่มีหมูดุดอาศัยอยู่เลย แม้แต่หญ้าทะเลก็เสื่อมโทรมไปมาก
ยังมีความรู้ ความงดงามจากธรรมชาติอีกมากมายที่จะได้รับจากสถานที่แห่งนี้แต่ ถ้าท่านตั้งใจจะไปสัมผัสอย่างแท้จริง สถานที่แห่งนี้ก็เปิดให้เข้าชมทุกวันนะครับ ตั้งแต่เวลาประมาณ 06.30–18.00 น.